วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2554

กาแฟกับเรื่องสุขภาพ




     Coffee break for health คุณเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบกลิ่นหอมกรุ่นและรสชาติขมอร่อยของกาแฟหรือไม่...

     กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่แพร่หลายมากรองจากชา เป็นเครื่องดื่มที่พบได้ทั่วทุกหนทุกแห่ง ทั้งในที่ทำงาน สถานที่ท่องเที่ยว หรือแม้แต่ในระหว่างการเดินทางที่ต่างๆ ของโลก ในเมืองไทยเราก็มีร้านกาแฟในกรุงเทพและต่างจังหวัดจำนวนไม่น้อย มีตั้งแต่กาแฟไทยโบราณไปจนถึงกาแฟนำเข้าจากต่างประเทศ

กาแฟกับหัวใจ
     จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2005 รายงานว่า หลอดเลือดของผู้ที่ดื่มกาแฟมีความยืดหยุ่นน้อยกว่าผู้ที่ไม่ดื่ม จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และในงานวิจัยฉบับนี้ยังได้แนะนำให้ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงหรือมีความเสี่ยงอื่นต่อการเกิดโรคหัวใจ (ไขมันในเลือดสูง อ้วน เบาหวาน สูบบุหรี่ และไม่ออกกำลังกาย) ที่ดื่มกาแฟมากกว่าวันละ 3 แก้ว ให้ลดปริมาณการดื่มลง

     ในขณะที่งานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2006 รายงานว่า การดื่มกาแฟไม่ทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้น แม้จะดื่มมากกว่าวันละ 6 แก้ว

     ส่วนงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2006 รายงานว่า กาแฟอาจก่อให้เกิดอาการหัวใจพิบัติ (Heart attack) ได้ภายใน 1 ชั่วโมงหลังการดื่ม โดยพบว่าผู้ที่ดื่มกาแฟวันละ 2 - 3 แก้ว มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจพิบัติถึงร้อยละ 60

     ส่วนผู้ที่ดื่มกาแฟน้อยกว่าวันละ 2 – 3 แก้วหรือดื่มเป็นครั้งคราว จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจพิบัติหลังการดื่มกาแฟเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า ที่เป็นเช่นนี้อาจเนื่องจากผู้ที่ไม่ได้ดื่มกาแฟเป็นประจำ ร่างกายอาจไม่ชินกับสภาวะที่หัวใจเต้นเร็วขึ้น และความดันโลหิตสูงขึ้นชั่วคราวจากการได้รับสารคาเฟอีน จึงทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจพิบัติสูงกว่า

     สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจตั้งแต่ 3 ข้อขึ้นไป การดื่มกาแฟอาจเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เกิดอาการหัวใจพิบัติได้มากขึ้นกว่า 2 เท่า ในขณะที่การศึกษาในหญิงวัยหมดประจำเดือนพบว่า อัตราการตายจากโรคหัวใจของผู้ที่ดื่มกาแฟวันละ 1 – 3 แก้ว น้อยกว่าผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟถึงร้อยละ 24 แม้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับกาแฟและสุขภาพหัวใจยังมีความขัดแย้งกันอยู่ แต่สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาก็แนะนำเสริมว่า การดื่มกาแฟพอประมาณ(วันละ 1 – 2 แก้ว) ไม่น่าจะทำให้เกิดอันตราย

 

กาแฟกับเบาหวาน
     การวิเคราะห์ข้อมูลจาก 8 งานวิจัยในปี 2005 ได้ข้อสรุปว่า ผู้ใหญ่ที่ดื่มกาแฟวันละ 6 – 7 แก้ว มีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานลดลง 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับผู้ที่ดื่มวันละ 2 แก้ว และจากการศึกษาล่าสุดเมื่อปีที่แล้วพบว่า ผู้หญิงที่ดื่มกาแฟวันละ 2 – 3 แก้ว มีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานลดลงร้อยละ 13 ในขณะที่ผู้ที่ดื่มตั้งแต่วันละ 4 แก้วขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานลดลงมากกว่าร้อยละ 40 ซึ่งการค้นพบนี้เป็นที่ประหลาดใจของทีมนักวิจัย

     เนื่องจากในการศึกษาเฉพาะสารสกัดคาเฟอีนพบว่า มีผลในการเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลและลดการเผาผลาญน้ำตาล คาเฟอีนจึงน่าจะทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานเพิ่มขึ้นมากกว่า ดังนั้นผลในการป้องกันเบาหวานน่าจะมาจากสารอื่นที่อยู่ในกาแฟ แต่อย่างไรก็ตามนักวิจัยยังไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการดื่มกาแฟเพื่อป้องกันโรคเบาหวาน แต่แนะนำให้ป้องกันโรคนี้ด้วยการบริโภคธัญพืชที่ไม่ขัดสี เพิ่มการออกกำลังกาย และลดน้ำหนัก น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า

 

กาแฟกับมะเร็ง
     มีการศึกษาเกี่ยวกับการดื่มกาแฟกับโรคมะเร็งชนิดต่างๆ พบว่า
* การดื่มกาแฟเป็นประจำจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับอ่อนได้
* การดื่มกาแฟปริมาณมากขณะตั้งครรภ์ ทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว(ลูคีเมีย)
* การดื่มกาแฟเป็นประจำจะทำให้ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 – 70
* กาแฟช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับได้
* กาแฟอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

     นอกจากนี้กาแฟยังมีผลต่อสุขภาพด้านอื่นๆ อีก เช่น ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพาร์กินสัน ช่วยระงับอาการซึมเศร้า ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง
โดยพบว่าคาเฟอีนเพียง 32 มิลลิกรัมช่วยกระตุ้นให้มีสมาธิและมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่ผู้หญิงที่ดื่มกาแฟมากกว่าวันละ 3 – 4 แก้วเป็นประจำ จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน

     กาแฟมีมากมายหลายพันธุ์ มีวิธีการผลิตและวิธีการชงที่หลากหลาย จึงทำให้กาแฟมีกลิ่นและรสที่แตกต่างกัน ปริมาณคาเฟอีนในกาแฟแต่ละพันธุ์ก็ไม่เท่ากัน
โดยกาแฟพันธุ์อาราบิก้าซึ่งปลูกมากในบราซิล มีคาเฟอีนประมาณร้อยละ 0.8–1.5 ส่วนพันธุ์โรบัสต้าจากแอฟริกา มีคาเฟอีนประมาณร้อยละ 1.6–2.5 นอกจากนี้วิธีการชงกาแฟที่ต่างกันก็มีผลต่อปริมาณสารประกอบต่างๆ ที่ได้รับจากกาแฟ การชงกาแฟโดยไม่ผ่านการกรองจะทำให้ได้รับสารคาเฟสทอล(cafestol) และคาเวออล(kahweol) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น และทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้น

     จากข้อมูลต่างๆ จะเห็นว่า กาแฟมีทั้งประโยชน์และโทษคละกันไป ซึ่งไม่ต่างจากทุกสิ่งในโลกนี้ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้นผู้ที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟควรดื่มอย่างพอเพียง คือไม่น้อยเกินไปเพื่อให้ได้รับประโยชน์ทางสุขภาพจากการดื่มกาแฟ และไม่มากเกินไปเพื่อป้องกันโทษจากกาแฟ ขอให้ทุกท่านมีความสุขและสุขภาพดีจากการจิบกาแฟที่หอมกรุ่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น